สถาบันสอนภาษาอังกฤษ Business English Quick & Easy
เรียนภาษาอังกฤษในรูปแบบ Sentence Structure
สถาบันสอนภาษาอังกฤษ Business English Quick and Easy ก่อตั้งเมื่อปี 1999โดยเน้นการเรียนการสอนในรูปแบบ Sentence Structure ที่จะช่วยให้คุณสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในรูปแบบประโยคที่ยาวเท่าใดก็ได้ตามใจต้องการ
หัวใจการเรียนภาษาอังกฤษ
พื้นฐานการเรียนภาษาอังกฤษที่จะทำให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษ มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ 3 อย่าง คือ
- ตำราดี
- ผู้สอนดี
- ผู้เรียนตั้งใจจริงและเอาจริง
ผู้เรียนจะตั้งใจจริงและเอาจริงมากน้อยเพียงใด อยู่ที่ว่าผู้เรียนเห็นคุณค่าของภาษาอังกฤษมากน้อยเพียงใด
เปรียบเสมือนว่า ทุกคนรู้ว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่มีกี่คนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีแต่คนที่เห็นคุณค่าของการออกกำลังกายอย่างสาแก่ใจเท่านั้น จึงจะสามารถออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ
ถ้าผู้เรียนไม่เห็นคุณค่าของภาษาอังกฤษอย่างสาแก่ใจก็จะไม่ตั้งใจจริง และไม่เอาจริง แต่ถ้าผู้เรียนเห็นคุณค่าของภาษาอังกฤษอย่างสาแก่ใจ ความตั้งใจจริง และเอาจริงของผู้เรียนจะคงอยู่นานแค่ไหน
1 นาที 10 นาที 30 นาที 1 ชั่วโมง 1 สัปดาห์ 1 เดือน หรือจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ
ทำไมคนไทยถึงไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษ
ทำไมที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ในการเรียนภาษาอังกฤษและแนวทางการแก้ไขปัญหานี้
ปัญหานี้เกิดจาก 2 ประเด็นหลักด้วยกัน
1. การเรียนการสอนหรือตำราที่ใช้สอนกัน
2. แนวความคิดในเรื่องของการเรียนภาษาอังกฤษ
การเรียนการสอนหรือตำราที่ใช้สอนกัน
1) สอนเน้นเฉพาะ Grammar (หลักไวยากรณ์) ปลีกย่อยๆ มากเกินไป จนทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกท้อแท้ใจว่า เนื้อหาภาษาอังกฤษมีมากเกินกว่าที่จะเรียนรู้ไหว และดูวุ่นวายสับสนไปหมด
แนวทางการแก้ไขปัญหานี้ของทางสถาบันฯ
หลักสูตร Strong Base for Structure (SB) เป็นหลักสูตรแรกของสถาบันฯ ที่แก้ไขปัญหาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้คนไทยไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษ จนเกิดความท้อแท้ใจ
เนื้อหาโดยสังเขปของหลักสูตร Strong Base for Structure (SB) (หลักสูตรนี้เรียน 16 ช.ม. เรียนเฉพาะวันอาทิตย์ 14:00 น.-18:00 น.)
ส่วนที่ 1 สอนเน้นเฉพาะหลักไวยากรณ์ (Grammar) ที่จำเป็นที่สุด ที่จะทำให้คุณเรียนรู้ภาษาอังกฤษเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนนับ 10 เท่า ฟังดูเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ แต่ขอให้คุณพิจารณารายรับของสถาบันฯ ที่มีมากกว่า 190 ล้านบาท ก็จะรู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อ
สอนเรื่อง Verb Forms / 12 Tenses / ประเภทของ Verb / Active Voice, Passive Voice
วิธีการสร้างประโยคปฏิเสธและประโยคคำถาม / Noun / Pronoun / Adjective / Adverb
ส่วนที่ 2 สอนหลักไวยากรณ์ที่เป็นหัวใจโครงสร้างภาษาอังกฤษทั้งระบบ ที่จะทำให้คุณเข้าใจและรู้ว่าจะพูด จะเขียน และจะอ่านรูปประโยคที่มีโครงสร้างยาวๆ หรือเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนได้อย่างไร
สอนเรื่อง Verbal (Infinitive, Gerund, Present Participle, Past Participle, Present Perfect Participle)
Clause (Independent Clause, Dependent Clause : Noun Clause / Adjective Clause / Adverb Clause)
ถ้าคุณยังเรียนภาษาอังกฤษในระบบเดิมตามที่สอนกันทั่วไป โดยไม่มีการสอน หรือสอนแต่ไม่เน้นย้ำ เนื้อหาในส่วนที่ 2 นี้ คุณจะต้องใช้เวลายาวนานมากถึงจะใช้ภาษาอังกฤษได้ หรือยังใช้ไม่ได้อีกตามเคยเหมือนที่เรียนมานานนับ 10 ปีจนถึงมหาวิทยาลัย
2) ละเลยการเน้นหลักในการเรียงคำของโครงสร้างประโยค (Sentence Structure) เพื่อให้คุณเห็นภาพและเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Sentence Structure (หลักในการเรียงคำ) และ Grammar (หลักไวยากรณ์) ได้อย่างง่ายสุด และเร็วสุด ขอให้ดูตัวอย่างข้างล่างนี้
เปรียบเทียบหลักการเรียงคำตามโครงสร้างประโยค (Structure) กับไวยากรณ์ (Grammar)
แบบที่ 1
ประธาน กริยา (————- ตัวขยายกริยา———————–)
She went to my office yesterday.
Structure ถูก Grammar ถูก
หมายเหตุ คำกริยาในภาษาอังกฤษต้องเปลี่ยนรูปร่างไปตามประธานและตาม Tense
went เปลี่ยนรูปร่างมาจากคำว่า go เพราะพูดถึงเหตุการณ์เมื่อวานนี้ (Past Simple Tense)
went เป็นกริยาประเภทที่ไม่ต้องการกรรม (Intransitive Verb)
คำที่ตามหลังกริยาประเภทที่ไม่ต้องการกรรม จะเรียกว่าตัวขยายกริยา
Structure ถูก การเรียงคำตามโครงสร้างประโยคถูกต้อง คือ ประธาน กริยา ตัวขยายกริยา
Grammar ถูก คำกริยาเปลี่ยนรูปร่างตามประธานและตาม Tense และเลือกใช้ Preposition ถูกต้อง คือ to
แบบที่ 2
ประธาน กริยา (————- ตัวขยายกริยา———————–)
She go on my office yesterday.
Structure ถูก Grammar ผิด
Structure ถูก การเรียงคำตามโครงสร้างประโยคถูกต้อง คือเหมือนแบบที่ 1
Grammar ผิด คำกริยาไม่มีการผันตามประธานและตาม Tense และเลือกใช้ Preposition ไม่ถูกต้อง คือใช้ on แทนที่จะเป็น to
แบบที่ 3
She my office to yesterday went.
Structure ผิด Grammar ถูก
Structure ผิด การเรียงคำตามโครงสร้างประโยคไม่ถูกต้อง คือเรียงประธานก่อน ตามด้วยตัวขยายกริยา (ซึ่งการเรียงคำของตัวขยายกริยาก็เป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง) และลงท้ายด้วยกริยา
Grammar ถูก คำกริยามีการผันตามประธานและตาม Tense และเลือกใช้ Preposition ถูกต้อง คือ to
ถ้าเรียงคำตามโครงสร้างประโยคได้ถูกต้อง แม้ Grammar บางส่วนผิด คนอ่าน คนฟังยังรู้เรื่อง
She go on my office yesterday.
แต่ถ้าเรียงคำตามโครงสร้างประโยคไม่ถูกต้อง แม้ว่า Grammar ถูกต้อง คนอ่าน คนฟัง จะรู้เรื่องยากมาก
She my office to yesterday went.
นี่คือสาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งว่า ทำไมคนไทยหลายคนที่เก่ง Grammar สามารถทำข้อสอบระดับปริญญาโท /TOEIC /TOEFL ได้ แต่เมื่อยังไม่เข้าใจ Sentence Structure (หลักในการเรียงคำตามโครงสร้างประโยค)
ก็ยังไม่สามารถพูดได้ เขียนได้อยู่ดี
แนวทางแก้ไขปัญหานี้ของทางสถาบันฯ
หลักสูตร Essential English เป็นหลักสูตรที่ 2 ของสถาบันฯ สอนหลักการเรียงคำตามโครงสร้างประโยค (Sentence Structure) 30 รูปแบบ ที่ต้องใช้บ่อยมากในการพูด และเขียนภาษาอังกฤษ
เมื่อคุณเรียนจบหลักสูตรนี้แล้ว เปรียบเสมือนคุณมีแก้วสารพัดนึกอยู่ในมือ เพราะทุกภาษาในโลกนี้ ถ้าคุณรู้คำศัพท์ของภาษานั้นๆ และรู้หลักในการเรียงคำตามโครงสร้างประโยค (Sentence Structure) คุณก็จะสามารถพูดและเขียนภาษานั้นๆ ได้ทุกเมื่อ
แนวความคิดในการเรียนภาษาอังกฤษ
แนวความคิดการเรียนภาษาอังกฤษในประเทศเรา มีแนวความคิดผิดๆ หลายอย่าง ทำให้การเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่ต้องใช้เวลานานเกินความจำเป็น และมักจะก่อให้เกิดความท้อแท้ใจกับผู้เรียน ดังต่อไปนี้
1) เวลาเรียงคำเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ให้นึกเทียบเคียงกับภาษาไทย เพราะหลักในการเรียงคำภาษาอังกฤษไม่เหมือนกับภาษาไทย
แนวความคิดในข้อที่ 1 ผิด เพราะไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังต่อไปนี้
หลักในการเรียงคำของภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จะพบว่าส่วนใหญ่เนื้อความจะตรงกันเกิน 70% และหลายเนื้อความตรงกัน 100 % ดังนั้น ในระยะแรกที่เริ่มฝึกพูด หรือเริ่มฝึกเขียนภาษาอังกฤษ ควรจะนึกเทียบเคียงกับภาษาไทย เพียงแต่ต้องระมัดระวัง และไม่ลืมในส่วนที่แตกต่างกันประมาณ 30% ในระยะต่อมาเมื่อคุ้นเคยหรือคล่องตัวแล้ว เวลาพูดและเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็ไม่จำเป็นต้องเทียบเคียงภาษาไทย สามารถพูดและเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ทันที
ทำไมถึงกล้าพูดว่า หลักในการเรียงคำของภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เนื้อความส่วนใหญ่จะตรงกันเกิน 70% และหลายเนื้อความตรงกัน 100 % เพราะพูดตามความเป็นจริง ดังต่อไปนี้
หลักในการเรียงคำ (Sentence Structure) ของภาษาไทยและภาษาอังกฤษตรงกัน 100% (มี 2 แบบ)
แบบที่ 1 หลักในการเรียงคำตรงกัน 100% และหลักไวยากรณ์ (Grammar) ก็ไม่แตกต่างกันมาก
(A) ฉัน เข้าใจ คุณ
I understand you.
(B) ฉัน รัก คุณ
I love you.
(C) พรุ่งนี้ ฉัน จะ พบ คุณ
Tomorrow I will see you.
(D) ฉัน จะ พบ คุณ พรุ่งนี้
I will see you tomorrow.
(E) เขา ไม่ มา ที่นี่ เมื่อวานนี้ เพราะ เขา ต้อง ทำงาน ล่วงเวลา ที่ โรงงาน
He didn’t come here yesterday because he had to work overtime at the factory.
แบบที่ 2 หลักในการเรียงคำตรงกัน 100% แต่หลักไวยากรณ์ (Grammar) แตกต่างกัน
(F) ถ้าประธานทำกริยามากกว่า 1 อย่าง จะต้องมี Conjunction มาเชื่อมอยู่หน้าคำกริยาคำสุดท้ายเช่น but หรือ and เป็นต้น
ฉัน เดิน นอน ทุกวัน
I walk sleep every day. ผิด
I walk and sleep every day. ถูก
(G) คำกริยาในภาษาอังกฤษ ต้องเปลี่ยนรูปร่างตามประธานและ Tense
ฉัน นอน ทุกวัน
I sleep every day. ถูก
เขา นอน ทุกวัน
He sleep every day. ผิด He sleeps every day. ถูก
เขา นอน เมื่อวานนี้
He sleep yesterday. ผิด He slept yesterday. ถูก
(H) คำนามนับได้ที่เป็นเอกพจน์จะต้องมี คำนำหน้า เช่น a, an, the, my, etc.
เขา มี รถ
He has car. ผิด He has a car. ถูก
(I) ถ้าประธานทำกริยาอย่างเดียว กริยาอีกคำหนึ่งต้องเป็น Verbal
เขา ต้องการ นอน
He wants sleep. ผิด He wants to sleep. ถูก
(J) คำสรรพนามในภาษาอังกฤษ ไม่เหมือนภาษาไทย จะต้องมีการเปลี่ยนรูปร่างตามหน้าที่
ฉัน รัก ลินดา ลินดา รัก ฉัน
I love Linda. Linda loves I. ผิด Linda loves me. ถูก
หลักในการเรียงคำ (Sentence Structure) ของภาษาไทยและภาษาอังกฤษไม่ตรงกัน
เพราะหลักไวยากรณ์ (Grammar) ของภาษาไทยและภาษาอังกฤษแตกต่างกัน
(K) ภาษาไทย คำขยายอยู่หลังคำนาม แต่ภาษาอังกฤษ คำขยาย (Adj) โดยทั่วไปจะวางไว้หน้าคำนาม
เขา มี รถ ใหม่
He has a car new. ผิด He has a new car. ถูก
ตัวอย่างประโยคในข้อ K
ถึงแม้เป็นเรื่องของคำขยายที่ภาษาไทยแตกต่างจากภาษาอังกฤษ ภาษาไทยวางอยู่หลังคำนาม แต่ภาษาอังกฤษวางไว้หน้าคำนาม แต่ก็ไม่ควรสรุปทันทีว่า เวลาเรียงคำเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ให้นึกเทียบเคียงกับภาษาไทย เพราะหลักในการเรียงคำภาษาอังกฤษไม่เหมือนกับภาษาไทย ทั้งๆ ที่หลักในการเรียงคำของภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่จะตรงกันเกิน 70% และหลายเนื้อความตรงกัน 100 %
Note: หลักในการเรียงคำของภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่แตกต่างกัน ประมาณ 30% ไม่ได้มีเพียง
เมื่อหลักในการเรียงคำของภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่จะตรงกันเกิน 70% และหลายเนื้อความตรงกัน 100 % ดังนั้น ภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนไทยที่จะเรียนรู้ ถ้าได้เรียนรู้อย่างถูกหลัก ถูกวิธี ถูกขั้นตอน แค่เรื่องคำขยายคำนามเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆอีก เช่น การตั้งประโยคคำถาม เป็นต้น
2) เวลาพูดหรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ให้นึกเป็นภาษาอังกฤษไปเลย ไม่ต้องนำมาเทียบ เคียงกับภาษาไทย
แนวความคิดนี้ถูก ถ้าหลักในการเรียงคำภาษาไทยกับภาษาอังกฤษตรงกันเพียงแค่ 30% แตกต่างกันถึง 70% ก็ควรที่จะนึกเป็นภาษาอังกฤษไปเลย ไม่ควรนำมาเทียบเคียงเพราะจะทำให้เกิดความสับสนเปล่าๆ
ความคิดนี้ไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่ต้องใช้เวลานานเกินไป และอาจก่อให้เกิดความท้อแท้ใจ เพราะหลักในการเรียงคำภาษาไทยกับภาษาอังกฤษตรงกันเกิน 70% (ตามที่ได้ชี้แจงไว้ในข้อ 1) ดังนั้น ผู้ที่เริ่มฝึกเขียนหรือเริ่มฝึกพูด จึงควรนำหลักในการเรียงคำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จะทำให้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น เพียงแค่ให้ระวังส่วนต่าง 30% เท่านั้น หลังจากคล่องตัวแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเทียบเคียงแต่อย่างไร สามารถพูดและเขียนออกมาเป็นภาษาอังกฤษได้ทันที
อันที่จริง คนที่ให้แนวความคิดข้อ 2 นี้ ตอนที่เริ่มฝึกเขียนหรือเริ่มฝึกพูดอังกฤษ ก็ต้องนึกเทียบ เคียงภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ตามความเคยชินที่หลักในการเรียงคำภาษาไทยกับภาษาอังกฤษตรงกันเกิน 70% แต่เมื่อคล่องแล้วก็ไม่นำมาเทียบเคียง สามารถที่จะพูดหรือเขียนโดยนึกเป็นแบบภาษาอังกฤษได้ทันที
คนที่ให้แนวความคิดนี้ เปรียบได้กับคนที่สามารถคีย์คอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว คล่องแคล่ว และถูกต้อง
ก็ไม่ต้องไปเหลือบดูแป้นอักษร ดูแต่เฉพาะเอกสารที่จะคีย์เท่านั้น แต่กลับไปแนะนำผู้เริ่มหัดคีย์ใหม่ๆ ว่า
ไม่ต้องไปเหลือบดูแป้นอักษร ให้ดูแต่เฉพาะเอกสารที่จะใช้คีย์เท่านั้น
3) การเรียนภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง ต้องเรียนพูดก่อนเขียน เพราะอาศัยหลักธรรมชาติของคนเราที่สามารถพูดได้ก่อนเขียน
คนเราพูดได้ก่อนเขียนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ทั้งนี้ผู้เรียนต้องเป็นเด็กที่อยู่ประเทศนั้นๆ เช่นเด็กอินเดียที่อยู่ในประเทศอินเดีย (พูดภาษาอินเดียได้ก่อนเขียนภาษาอินเดีย) เด็กญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น (พูดภาษาญี่ปุ่นได้ก่อนเขียนภาษาญี่ปุ่น) เด็กไทยที่อยู่ในประเทศไทย (พูดภาษาไทยได้ก่อนเขียนภาษาไทย) เป็นต้น
ความคิดนี้ไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่ต้องใช้เวลานานเกินไป และอาจก่อให้เกิดความท้อแท้ใจ เพราะเด็กพูดภาษาแม่ได้ ก่อนเรียนเขียนได้ผลเพราะ
1. เรียนตอนเป็นเด็กเล็ก ไม่มีความกดดันเพราะไม่ต้องรีบใช้ภาษา มีเวลาหลายๆ ปีในการค่อยๆ เรียนรู้
2. สภาพสังคม สิ่งแวดล้อมของเด็กคนนั้นๆ ใช้ภาษาแม่ที่เด็กกำลังเรียนรู้อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง
คนไทยเรียนพูดภาษาอังกฤษก่อนเรียนเขียน ได้ผลน้อยเพราะ
1. ถ้าผู้เรียนเป็นผู้ที่ทำงานแล้ว มีความกดดันสูงเพราะไม่มีเวลาหลายๆ ปี ในการค่อยๆ เรียนรู้ เนื่องจากต้องรีบเป็นให้เร็วที่สุดเพื่อนำมาใช้งาน
2. สภาพสังคม สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษตลอด 24 ชั่งโมง
ผู้ที่แนะนำเช่นนี้ มองเรื่องการเรียนภาษาแม่ของเด็กในแต่ละประเทศไปเปรียบเทียบกับการเรียนภาษาที่ 2 โดยไม่ดูเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน (ระยะเวลาในการเรียนรู้ / สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน)
ดังนั้น จึงไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่เหมือนกันได้ คนไทยที่ทำงานแล้ว เรียนพูดภาษาอังกฤษก่อนเรียนเขียนได้ผลน้อย นอกจาก 2 ข้อดังกล่าวแล้ว วิธีการสอนก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดผลน้อย หรือเสียเวลามากกินไป หรือไม่ได้ผลเลย (โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษอ่อนมาก) เพราะ
1.ไม่ได้ปูพื้นฐานหลักไวยากรณ์ (Grammar) ที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น
2. ไม่ได้สอนหัวใจโครงสร้างภาษาอังกฤษทั้งระบบที่จะทำให้ผู้เรียน รู้และเข้าใจว่า จะพูดจะเขียน และจะอ่านรูปประโยคที่มีโครงสร้างยาวๆ หรือเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนได้อย่างไร
3. ไม่เน้นหลักในการเรียงคำของโครงสร้างประโยค (Sentence Structure)
การเรียนภาษาซึ่งไม่ใช่ภาษาแม่ จะมีอยู่ 2 วิธีการใหญ่ๆ คือ เรียนพูดก่อนเขียน หรือ เรียนเขียนก่อนพูด ซึ่งไม่สามารถระบุได้เด็ดขาดว่า วิธีไหนดีกว่า ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลัก 2 ข้อดังต่อไปนี้
ควรเรียนพูดก่อนเขียน
1. เป็นเด็กเล็ก (แต่ต้องสอนอย่าง ถูกหลัก ถูกวิธี ถูกขั้นตอน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหาเหมือนคนไทยที่ยังไม่สามารถพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งที่เรียนมานับ 10 ปี หรือเรียนจบปริญญาโทแล้วก็ตาม)
2. ภาษาที่เรียนมีหลักในการเรียงคำตรงกับภาษาแม่ของผู้เรียนไม่น้อยกว่า 90% และไม่มี Grammar (หลักไวยากรณ์) มากมายเหมือนภาษาอังกฤษ
ควรเรียนเขียนก่อนพูด
1. เด็กที่โตแล้ว หรือเป็นผู้ใหญ่แล้ว อยู่ในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาที่กำลังเรียนอยู่เป็นภาษาแม่ หรือเป็นภาษาทางการ
2. ภาษาที่เรียนมีหลักในการเรียงคำตรงกับภาษาแม่ของผู้เรียนประมาณ 70% (หรือน้อยกว่านี้)และมี Grammar (หลักไวยากรณ์) ปลีกย่อยมากมายเหมือนภาษาอังกฤษ
ตัวอย่างเช่น คนไทยควรเรียนพูดภาษาจีนก่อนเขียน เพราะภาษาจีนมีหลักในการเรียงคำตรงกับภาษาไทยไม่น้อยกว่า 90% และไม่มี Grammar มากมายเหมือนภาษาอังกฤษ ถ้าเรียบเรียงตำราภาษาจีนอย่างถูกหลัก ถูกวิธี ถูกขั้นตอน และผู้สอนมีประสิทธิภาพ ภาษาจีนจะง่ายกว่าภาษาอังกฤษมาก จนคุณนึกไม่ถึงว่า ทำไมคนไทยถึงเรียนภาษาจีนได้ง่ายแบบนี้
ภาษาจีนเหมือนภาษาไทย มีหลัก Grammar น้อยกว่าภาษาอังกฤษ เช่น
1) หน้าตาคำกริยาไม่ต้องเปลี่ยนรูปร่างตามประธานและตามTense
2) หน้าตาคำกริยาไม่ต้องเปลี่ยนรูปร่างตาม Active Voice และ Passive Voice
3) ประโยคคำถามและประโยคปฏิเสธ ไม่ยุ่งยากเหมือนภาษาอังกฤษ
4) สรรพนาม (Pronoun) มีช่องเดียว ไม่มี 5 ช่องเหมือนภาษาอังกฤษ
5) ไม่มี Article (a, an, the นำหน้าคำนาม)
6) คำกริยาซ้อนกันได้ ไม่ต้องเปลี่ยนคำกริยาเป็น Verbal หรือ Non-Finite Verb
7) ไม่ต้องเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาคำศัพท์ ให้สอดคล้องกับประเภทของคำ เช่น คำว่า good แปลว่า ดี เป็นคำประเภท Adjective ใช้ขยายคำนาม แต่ well แปลว่า ดี เป็นคำประเภท Adverb ใช้ขยายคำกริยา
8) อื่นๆ อีกมากมาย
ข้อเด่นและข้อด้อยในการเรียนเขียนภาษาอังกฤษก่อนพูด สำหรับเด็กไทยที่โตแล้ว หรือเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน
ข้อเด่น
1. เรียนรู้ได้ทันที ไม่ต้องใช้เวลาการเรียนรู้นานหลายปี ถ้าสอนอย่างถูกหลัก ถูกวิธี ถูกขั้นตอน
2. ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษตลอด 24 ชั่งโมง ก็สามารถเรียนรู้จนพูดได้เขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าสอนอย่างถูกหลัก ถูกวิธี ถูกขั้นตอน
3. ไม่ว่าจะเป็นเวลาเรียน หรือใช้งานจริง การเขียนจะมีเวลาเรียบเรียงคำได้ยาวนานมากกว่าพูด (เปรียบเหมือนกับหาผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์ ควรเริ่มฝึกจากการหาผลลัพธ์บนกระดาษก่อนที่จะฝึกหาผลลัพธ์ในใจ)
ข้อเสีย
วิธีนี้จะไม่ได้ผล ถ้าหากผู้เรียน เรียนรู้และเข้าใจแล้ว แต่ไม่กลับไปทบทวนและไม่หมั่นฝึกฝนทั้งพูดและเขียนจนเกิดความช่ำชอง
สรุปข้อเด่นและข้อด้อย ของการเรียนแบบธรรมชาติ (เรียนพูดก่อนเขียน) และการเรียนเขียนก่อนพูด เรียนแบบธรรมชาติ ใช้เวลามาก เมื่อได้แล้วได้เลย จำได้ตลอดชีวิต
เรียนเขียนก่อนพูด ใช้เวลาน้อย ไม่ได้ผล หากผู้เรียน เรียนรู้และเข้าใจแล้ว แต่ไม่กลับไปทบทวนและไม่หมั่นฝึกฝนให้เกิดความช่ำชองทั้งพูดและเขียน
4) การเรียนภาษาใดก็ตาม ต้องเรียนกับครูเจ้าของภาษานั้นๆ (แต่ครูเจ้าของภาษานั้นไม่รู้ภาษาไทยเลย)
ความคิดนี้ไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่ต้องใช้เวลานานเกินไป และอาจก่อให้เกิดความท้อแท้ใจเพราะ
ขอให้คุณมองภาพความเป็นจริงก่อนว่า ในเวลาที่คุณฟังครูคนไทยสอน คุณฟังรู้เรื่อง เพราะคุณรู้คำศัพท์ภาษาไทย และคุ้นสำเนียงภาษาไทย ถึงแม้บางครั้งคุณฟังไม่เข้าใจ คุณก็ถามครูได้ เพราะคุณรู้จักหลักในการเรียงคำของภาษาไทย (Sentence Structure) และคุณรู้คำศัพท์ภาษาไทยมากพอที่จะนำมาใช้พูดใช้เขียน
การเรียนภาษาต่างชาติใดๆก็ตาม กับครูเจ้าของภาษาที่ไม่รู้ภาษาไทย ถ้าคุณรู้คำศัพท์ภาษานั้นๆ น้อยมากหรือไม่มีเลย คุณจะฟังสิ่งที่ครูต่างชาติสอนและอธิบายได้เข้าใจแค่ไหน ถ้าคุณสงสัย แต่คุณรู้ศัพท์ยังไม่มากพอ และคุณยังไม่รู้จักหลักในการเรียงคำของภาษานั้นๆ (Sentence Structure) คุณจะถามในสิ่งที่คุณสงสัยหรือยังไม่เข้าใจกับครูต่างชาติท่านนั้นได้ไหม
แนวความคิดที่ได้ผล และไม่ต้องใช้เวลานานเกินไป เรียนกับครูคนไทย เพราะคุณฟังรู้เรื่อง สงสัยก็ถามได้ เมื่อคุณมีความรู้ที่ดีระดับหนึ่งแล้ว จึงค่อยไปเรียนต่อยอดกับครูต่างชาติ
5) อยากเก่งภาษาอังกฤษ ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งทุกวัน
ความคิดนี้ไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่ต้องใช้เวลานานเกินไป และอาจก่อให้เกิดความท้อแท้ใจ เพราะถ้าคุณรู้ศัพท์น้อยมาก คุณจะท้อใจกับการเปิด Dictionary เพื่อหาความหมายของคำศัพท์ อีกทั้งภาษาในหนังสือพิมพ์ ไม่ได้ใช้โครงสร้างภาษาง่ายๆ เหมือนตำราเรียนทั่วไป ถึงแม้คุณจะรู้ศัพท์จากการเปิด Dictionary แล้ว แต่คุณยังรู้โครงสร้างภาษาอังกฤษไม่มากพอ คุณก็อ่านไม่เข้าใจอยู่ดี
แนวความคิดที่ได้ผล และไม่ต้องใช้เวลานานเกินไป ไม่ใช่แนะนำว่า อยากเก่งภาษาอังกฤษต้องอ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งทุกวัน แต่แนะนำว่า อยากเก่งภาษาอังกฤษให้มากยิ่งขึ้น ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งทุกวัน หลังจากคุณรู้ศัพท์และรู้โครงสร้างประโยคภาษาอังกฤษได้มากพอสมควร
6) อยากเก่งภาษาอังกฤษ ให้ฝึกฟัง Soundtrack
ความคิดนี้ไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่ต้องใช้เวลานานเกินไป และอาจก่อให้เกิดความท้อแท้ใจ เพราะขอให้นึกถึงความเป็นจริงว่า ถ้าคุณพูดกับเด็กไทยประมาณ 2 ขวบ คุณพูดประมาณ 100 คำ เด็กน่าจะเข้าใจไม่เกิน 50 คำ แต่ถ้าคุณให้เด็กคนนี้ดูหนังไทย ในหนังพูดประมาณ 100 คำ เด็กน่าจะเข้าใจไม่เกิน 25 คำ เพราะว่าเวลาคุณพูดกับเด็ก 2 ขวบ คุณจะพูดกับเด็กช้าๆ อาจทำไม้ทำมือประกอบท่าทางไปด้วย ส่วนเรื่องที่พูดก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ของเด็กคนนั้น เด็กจึงฟังรู้เรื่องและเข้าใจมากกว่าเมื่อไปดูหนังไทย เพราะในหนังไทยจะพูดเร็วกว่าที่คุณพูดกับเด็ก แล้วเรื่องราวก็ไม่ใกล้เคียงกับการรับรู้หรือเกี่ยวข้องกับเด็กด้วย เด็กจึงฟังเข้าใจได้น้อยมาก
ถ้าคุณยังรู้ศัพท์น้อยมาก สำเนียงของฝรั่งก็ยังไม่คุ้น โดยเฉพาะสำเนียงของฝรั่งที่พูดเร็วหรือพูดรัวในภาพยนตร์ คุณก็จะเหมือนเด็กไทย 2 ขวบไปดูหนังไทย คุณจะฟังรู้เรื่องได้แค่ไหน ต่อให้คุณฟังไปดู Subtitles ไป คุณจะดูทันไหม ต่อให้คุณดู Subtitles ทัน แต่ศัพท์คุณรู้น้อยมาก คุณจะเข้าใจได้แค่ไหน
แนวความคิดที่ได้ผล และไม่ต้องใช้เวลานานเกินไป
ในระยะแรก ให้ฝึกฟังจากประโยคที่สั้นๆ และพูดช้าๆ โดยในแต่ละหน้า ให้ใช้วิธีการดังต่อไปนี้ ฟังไปด้วยพร้อมกับดูหนังสือตามไปด้วย แล้วก็ฟังอย่างเดียวโดยไม่เปิดหนังสือดูสลับไปสลับมา เมื่อเริ่มคุ้นเคยมากขึ้น จึงให้ฟังอย่างเดียวโดยไม่ต้องไปเปิดดู
เมื่อในแต่ละหน้า สามารถฟังรู้เรื่อง จนไม่ต้องเปิดหนังสือดูตามไปด้วย จึงค่อยไป ฝึกฟังในหน้าต่อไป
ในระยะแรกที่ฝึกฟัง อย่าเพิ่งใจร้อน
ในระยะที่สอง ให้ฝึกฟังจากประโยคที่ยาวขึ้นและพูดเร็วขึ้น วิธีการฝึกฟัง ก็เหมือนกับระยะแรกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (ฟัง+ดูหนังสือ แล้วก็ฟังอย่างเดียว สลับไปมาจนกระทั่งฟังอย่างเดียวไม่เปิดดู)
ในระยะที่สาม จึงค่อยมาฝึกฟังข่าวและดู Soundtrack วิธีการฝึกฟัง ก็เหมือนกับระยะแรกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
7) การเรียนภาษาอังกฤษ สำเนียงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และยังเป็นเรื่องแรกสุดในการเรียนและฝึกฝนภาษาอังกฤษ ถ้าสำเนียงไม่เหมือนฝรั่ง เวลาพูดออกไปแล้วฝรั่งจะฟังไม่รู้เรื่อง
แนวความคิดนี้ผู้เขียนเห็นด้วย ถ้านำไปใช้กับเด็กอนุบาล หรือนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 เพราะเด็กในช่วงเวลานี้ ยังไม่จำเป็นต้องนำภาษาอังกฤษมาใช้งาน และยังมีเวลาอันยาวนานที่จะค่อยๆ เรียนรู้
ภาษาอังกฤษ แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ ถ้านำไปใช้กับเด็กนักเรียนมัธยม นักศึกษา ผู้ที่ทำงานแล้ว เพราะในความเป็นจริง อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของประเทศไทยเราหลายท่าน รวมทั้งคนไทยที่เป็นระดับผู้บริหารทั้งในภาครัฐและในภาคเอกชนหลายท่าน สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วโดยที่สำเนียงไม่เหมือนฝรั่งเลย แต่ฝรั่งก็ฟังรู้เรื่อง
อย่างใดก็ตาม ผู้เขียนไม่ปฏิเสธและเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ถ้าใครสามารถพูดภาษาอังกฤษได้สำเนียงเหมือนฝรั่ง เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่การพูดสำเนียงได้เหมือนฝรั่งไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้คนไทยสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้เร็วที่สุด จนสามารถนำไปใช้เขียนและพูดภาษาอังกฤษให้ฝรั่งเข้าใจได้
ถ้าคุณเห็นด้วยกับสิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ขอให้คุณเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า ภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยากที่จะเรียนรู้เลย ถ้าหากสอนหรือเรียนรู้อย่างถูกหลัก ถูกวิธี ถูกขั้นตอน
หัวใจสำคัญที่ทำให้คุณประสบผลสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษอยู่ที่ ตำราดี ผู้สอนดี คุณตั้งใจจริงและเอาจริง ขอให้คุณเห็นคุณค่าของภาษาอังกฤษ อย่างสาแก่ใจ ตั้งใจจริงและเอาจริงจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ